ค้นหาข้อสอบ ในเว็บไซต์แห่งนี้

Wednesday, October 5, 2011

“วรวัจน์” ชูแนวคิด 1 จังหวัด 1 เขตมัธยม 1 เขตประถม สั่ง สพฐ.ทบทวนการแบ่งเขตพื้นที่มัธยมและประถมใหม่ ชี้ เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น ระบุ การแบ่งที่ผ่านมาไม่เหมาะสม เพราะได้ดูแลขนาดพื้นที่

“วรวัจน์” ชูแนวคิด 1 จังหวัด 1 เขตมัธยม 1 เขตประถม สั่ง สพฐ.ทบทวนการแบ่งเขตพื้นที่มัธยมและประถมใหม่ ชี้ เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น ระบุ การแบ่งที่ผ่านมาไม่เหมาะสม เพราะได้ดูแลขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ไม่เท่ากันส่งผลต่อการบริหาร

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาที่ผ่านมาที่แบ่งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 42 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 175 เขต พบปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะ สพม.นั้น มีหลายเขตพื้นที่การศึกษาที่มีการบริหารจัดการบริหารจัดการคร่อมกันอยู่หลายเขต ทำให้จังหวัดเล็กหรือจังหวัดที่ไม่เป็นที่ตั้งของสำนักงานอาจจะถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ดังนั้น จึงมีแนวคิดว่าควรจะปรับปรุงการแบ่งเขตโดยเฉพาะ สพม.จากที่มี 42 เขต อาจจะปรับโดยให้ยึดเขตจังหวัด ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเหล่านี้ และการทำงานเกิดความคล่องตัวได้ โดยให้ไปดูในเรื่องของการเพิ่มเขตหรือแบ่งเขตให้เหมาะสมที่สุด


“เช่นเดียวกัน ในส่วนของ สพป.ก็ให้ไปดูว่าเขตพื้นที่ใดที่มีพื้นที่การดูแลที่กว้างใหญ่เกินไปจนเกิดความไม่เหมาะสม ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ทาง สพฐ.ก็สามารถเสนอขอปรับลดหรือเพิ่มเขตพื้นที่มาได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีความพยายามจะให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด เช่น ใน 1 จังหวัด มี สพป.เขต 1-2 อาจจะให้เหลือเพียงเขตเดียว หรือในส่วน สพม.จากที่กำหนดว่า 2 จังหวัดถือเป็น 1 เขตพื้นที่ อาจจะปรับให้เป็น 1 จังหวัดต่อ 1 เขตพื้นที่เพื่อให้เกิดการกระจายของทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ” นายวรวัจน์ กล่าว


เมื่อถามว่า โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือโรงเรียนขนาดเล็กจะเดินทางมา ติดต่อทางเขตพื้นที่ได้ลำบากมากขึ้นหรือไม่นั้น นายวรวัจน์ ชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนี้การแบ่งเขตพื้นที่ฯยังไม่มีความเหมาะสมจนทำให้เกิดปัญหา เรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งคิดว่าเมื่อปรับโดยให้ยึดตามเขตจังหวัดน่าจะมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงยังคงเดิมทุกประการ เช่นเดียวกับจำนวนโรงเรียน จำนวนบุคลากรที่มีอยู่ในพื้นที่เดิมก็ไม่เปลี่ยน เพียงแต่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อดูแลโรงเรียนที่ถูกทอดทิ้งได้อย่างทั่วถึง

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 ตุลาคม 2554