ค้นหาข้อสอบ ในเว็บไซต์แห่งนี้

แฟ้มสะสมผลงาน ประเมินครูผู้ช่วย


บทที่ 8

การประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน


 

ความคิดรวบยอด

                            แฟ้มสะสมผลงาน เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ใช้เก็บผลงานดีเด่นของนักเรียน  ทั้งในเชิงปริมาณ  และเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  ในระยะเวลาที่กำหนด  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า (progression) และความสำเร็จ (achievement)  ของการเรียนรู้ในเรื่องนั้น  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน และใช้เป็นเครื่องมือครูในการประเมินผลตามสภาพจริง ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ  ประการ คือ การสะสม การจัดระบบข้อมูล และการสะท้อนผลงานหรือผลการเรียนรู้ของนักเรียน

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

1.             รู้และเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
2.             รู้และเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
3.             รู้และเข้าใจหลักการ ประเภท วัตถุประสงค์ของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
4.             สรุปกระบวนการในการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
5.             รู้และเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของแฟ้มสะสมผลงาน
6.             อธิบายวิธีการประเมินแฟ้มสะสมผลงาน
7.             สรุปประโยชน์ของแฟ้มสะสมงานต่อการพัฒนาการศึกษา

หัวข้อเนื้อหา

1.             ความเป็นมาของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
2.             ความหมายของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
3.             หลักการ ประเภท วัตถุประสงค์ของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
4.             กระบวนการในการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
5.             โครงสร้างของแฟ้มสะสมผลงาน
6.             วิธีการประเมินแฟ้มสะสมผลงาน
7.             ประโยชน์ของแฟ้มสะสมงานต่อการพัฒนาการศึกษา
1.             ความเป็นมาของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
                    แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) มีต้นกำเนิดมาจากวงการศิลปะ เหล่าศิลปินเหล่านั้นจะสร้างสรรค์ผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันสมควร เมื่อได้ผลงานจนมากพอก็จะคัดเลือกผลงานดีเด่นจำนวนหนึ่ง  มาจัดนิทรรศการตามหอศิลป์  เพื่อให้ผู้อื่นได้ชื่นชมความงามของผลงานนั้น  และได้รับรู้ถึงความสามารถอันเป็นอัจฉริยะของตน  ดังนั้นในการเรียนวิชาศิลปะของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรได้  ต้องสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณภาพและปริมาณมากพอ  และนำผลงานชิ้นนั้นมาจัดแสดงให้คนดู เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของครูผู้สอน  เพื่อนร่วมชั้นและบุคคลทั่วไป  เรียกการทำศิลปะนิพนธ์  จึงจะสำเร็จการศึกษาได้
                    ส่วนในวงการโฆษณา นักโฆษณามืออาชีพจะถ่ายภาพโฆษณาที่ดีของตนมาเก็บไว้ในแฟ้มกระเป๋าหนังสีดำ  เรียกว่า  “Portfolio  หรือ  black  folder”  (ดังนั้น  portfolio  ในความหมายนี้จึงหมายถึงกระเป๋าหนังสีดำเพื่อนำเสนอให้ผู้ว่าจ้างดูว่าตนเองมีความสามารถมากน้อยเพียงใดก่อนจะจ้างงาน
                    ดังนั้น แฟ้มสะสมผลงาน จึงคล้ายกับ catalog ที่แสดงตัวอย่างสินค้า  เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกชมก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความสามารถของบุคคลดีกว่าการพูดอวดอ้างสรรพคุณให้ฟัง  หรือนำใบปริญญาบัตรมาให้ดู  เพราะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์  ที่สามารถมองเห็นได้ตามสภาพจริง
                    ในปี  ค.. 1988  ประเทศอังกฤษ  สหรัฐอเมริกา  และออสเตรเลีย  เริ่มการประเมินผลการเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนโดยเฉพาะในรัฐเวอร์มอนต์ (Vermont)  ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีนี้ ประเมินผลการเรียนคณิตศาสตร์อย่างเป็นทางการทั่วทั้งรัฐแทนการใช้แบบทดสอบ  และจากผลการวิจัยซึ่งได้ตรวจสอบความคิดเห็นของครู  ต่างให้ความเห็นว่าเป็นวิธีการประเมินที่ดีกว่าการใช้แบบทดสอบ  เพราะสามารถตรวจสอบความรู้ความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน
                    ส่วนในประเทศอังกฤษ  มีระเบียบเป็นกฎหมาย ให้นักเรียนทุกคนต้องทำแฟ้มสะสมผลงานซึ่งมิได้เรียกว่า “PORTFOLIO” อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ใช้คำว่า  “Record  of  achievement”  โดยกำหนดให้มีส่วนประกอบเป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ
                    สำหรับประเทศไทยนั้น  โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ของกระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากองค์การสหประชาชาติ  ให้ดำเนินงานระหว่างปี  พ..2537-2540  ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน  ไปทดลองใช้กับโรงเรียนในจังหวัดกระบี่จำนวน  10  โรงเรียน  เมื่อปี  พ.. 2538  และเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา  เนื่องจากเป็นหลักฐานที่ใช้ในการประเมินตามสภาพจริง  ซึ่งดีกว่าการวัดผลด้วยแบบทดสอบความรู้
                    ต่อมาเมื่อปี  พ.. 2539  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน  ให้บรรลุถึงความเป็นเลิศทางการศึกษาภายในปี  พ.. 2550  โดยเน้นการปฏิรูป  4  ด้าน  คือ
                            1.  การปฏิรูปโรงเรียนและสถานศึกษา
                            2.  การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา
                            3.  การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน
                            4.  การปฏิรูประบบการบริหารการศึกษา
                    จากนโยบายดังกล่าว จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลแนวใหม่โดยใช้แฟ้มสะสมผลงานหรือแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน
                    อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนได้นำมาใช้ในการประเมินระดับอนุบาลศึกษา  ซึ่งไม่สามารถวัดผลจากแบบทดสอบได้  เนื่องจากนักเรียนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้  จึงใช้การเก็บสะสมผลงานของนักเรียนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปีการศึกษา  หากพิจารณาผลงานแล้วพบว่านักเรียนมีความพร้อม  หรือมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย  ครูผู้สอนจะเลื่อนชั้นให้  โดยใช้ผลงานของนักเรียนเป็นเครื่องมือในการตัดสินแทนการสอบ

2. ความหมายของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน 
                    มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงานไว้อย่างหลากหลาย แต่ละความหมายสะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์การใช้งานของแฟ้มสะสมผลงานที่แตกต่างกันออกไป  สามารถยืดหยุ่นได้ตามลักษณะการใช้งานนั้น ๆ  แต่อย่างไรก็ดีสามารถสรุปได้ว่าแฟ้มสะสมผลงานจะมีลักษณะดังต่อไปนี้  (Allen A. De Fina. 1992 : 13 – 16, Annie W. Ward and Mildred Murray-Ward. 1999 :  193 -194 , John Salvia and James E. Ysseldyke.1998 :272)
                            1.  แฟ้มสะสมผลงานเป็นการเก็บสะสมผลงานของนักเรียนใน  วิชา  หรือมากกว่าอย่างเป็นระบบ  มีจุดมุ่งหมายหรือมีความหมายในการเก็บรวบรวม  โดยผู้เรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำชิ้นงานใดเก็บไว้ในแฟ้มสะสมผลงาน  ในกระบวนการนี้ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการศึกษาอย่างแท้จริง
                            2.  ผู้เรียนทุกระดับไม่ได้มีส่วนเฉพาะในการเลือกชิ้นงานใส่ลงไปในแฟ้มสะสมผลงานเท่านั้น แต่จะต้องมีส่วนในการตั้งเกณฑ์ในการเลือกชิ้นงาน  มีความร่วมมือกันในการทำงานระหว่างครูและผู้เรียน  เพื่อช่วยกันกำหนดเกณฑ์  วิธีการ  และรูปแบบการประเมินผลสำเร็จของแฟ้มสะสมผลงาน  โดยยึดเป้าหมายและความสำเร็จของผู้เรียนแต่ละคนเป็นหลัก  แฟ้มสะสมผลงานจะต้องแสดงให้เห็นว่าเจ้าของชิ้นงานนั้นคิดอย่างไรในการเลือกชิ้นงานนั้นเข้าแฟ้มสะสมผลงาน  และผู้เรียนสามารถเปลี่ยนใจในการนำชิ้นงานออกมาจากแฟ้มสะสมผลงานได้ตลอดเวลา  เป็นการสร้างพลังอำนาจ (empowerment ) ให้แก่ผู้เรียน
                            3.  เป็นที่รวมของปัจจัยนำเข้าทางการศึกษา คือ ผู้สอน  ผู้ปกครอง  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  และผู้บริหารโรงเรียน  โดยครูและนักเรียนมีส่วนช่วยกันตั้งเกณฑ์ในการเลือกงานเข้า  แฟ้มสะสมผลงาน  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำ  ร่วมประเมิน  และผู้ปกครองมีส่วนในการให้คำติชม  ให้ข้อเสนอแนะหรือตรวจสอบผลงาน  มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากการบันทึกและแสดงผล  เพื่อให้ผู้ปกครอง  ผู้สอน  และผู้เรียน  ได้รับรู้เพื่อทำความเข้าใจตรงกันในความสำเร็จหรือความบกพร่องของผู้เรียนแต่ละคน  และผู้เรียนสามารถรับรู้ว่าตนควรปรับปรุงด้านใดบ้าง  ให้เกิดความก้าวหน้าทางการเรียนต่อไป
                            4.  แฟ้มสะสมผลงานทุกชิ้นจะสะท้อนถึงกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละระดับ  แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องอะไรไปบ้างและชี้ให้เห็นถึงระดับความสำเร็จ  และสภาพที่แท้จริงของผู้เรียน
                            5.  แฟ้มสะสมผลงานแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ความก้าวหน้าความสำเร็จของผู้เรียนในแต่ละช่วงเวลา  ทำให้มองเห็นถึงพัฒนาการ  ซึ่งไม่เหมือนการทดสอบทั่วไปที่แสดงให้เห็นเพียงผลงานเพียงชั่วขณะหนึ่ง (glimpse) ในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง  แฟ้มสะสมผลงานจะต้องถูกส่งผ่านจากระบบการเรียนในระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งที่สูงขึ้นต่อ ๆ  กันไป
                            6.  แฟ้มสะสมผลงานจะต้องประกอบไปด้วยหลาย ๆ ส่วน หรือแฟ้มงานย่อย  (subfolder) เนื่องจากแฟ้มสะสมผลงานเป็นที่เก็บรวบรวมผลงาน  ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้เรียนจะเลือกชิ้นงานที่ดีที่สุดมาเก็บไว้  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า  ผู้สอนจึงมีหน้าที่แนะนำให้ผู้เรียนแยกส่วนของแฟ้มสะสมผลงานออกมาเป็นส่วน          ๆ  ส่วนแรกจะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของงาน  จากงานที่ต้องแก้ไขปรับปรุงแล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ  ส่วนต่อมาเป็นการเขียนวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นในการเก็บสะสมผลงานของตนเอง  และส่วนสุดท้ายจะเป็นส่วนที่เลือกชิ้นงานที่ดีที่สุด  ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ได้รับการขัดเงา  (polished)  จนสามารถนำออกแสดงได้
                            ดังนั้นแฟ้มสะสมผลงานจึงไม่จำเป็นต้องเป็นแฟ้มงานเท่านั้น  อาจเป็นกล่อง  ชั้นวางของ  หรืออะไรก็ได้ที่เหมาะสมกับลักษณะงานและสภาพทางกายภาพของห้องเรียน
                            7.  การเก็บงานในแฟ้มสะสมผลงานควรใช้สื่อที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่แฟ้มสะสมผลงานจะเก็บผลงานประเภทงานเขียน แต่นอกเหนือจากประเภทงานเขียนแล้วยังสามารถเก็บสิ่งที่มีความสำคัญต่อผู้เรียนประเภทอื่น ๆ  ได้ด้วย  เช่น  งานศิลปะ  เทปบันทึกต่าง ๆ  สิ่งเหล่านี้จะมีคุณค่าในการแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของผู้เรียนในแต่ละปี  ต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ  เช่น  จากผลงานของผู้เรียน  การสังเกตบันทึกผลระหว่างเรียน  บันทึกวิธีทำงานของผู้เรียน  ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลเพียงพอที่ผู้สอนจะตัดสินความก้าวหน้าและผลสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
                            แฟ้มสะสมผลงานสามารถใช้ในการประเมินข้ามเนื้อหารายวิชาได้  จึงเหมาะสำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบัน ที่ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามรายวิชาโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเนื้อหาของแต่ละรายวิชาสามารถนำมาสอนร่วมกันแล้วประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานได้
                            8.  ต้องมีการประเมินผลตามสภาพจริง  (Authentic  assessment)  ทั้งนี้การประเมินผลระหว่างเรียนของผู้เรียน  โดยคำนึงถึงสภาพปัญหาและผลการประเมินจริงในชั้นเรียน  หรือในชีวิตประจำวันจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการประเมินผลโดยใช้ข้อทดสอบ
                            9.  ต้องมีการสะท้อนตนเอง (self  reflection)  ซึ่งเกิดจากการประเมินตนเองของผู้เรียน  หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน  (peer  evaluation) เพื่อแสดงผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนและชีวิตประจำวัน
                            10.  ต้องมีการนำผลการประเมินแต่ละครั้ง  และแต่ละบุคคล  ไปพัฒนากระบวนการเรียนการสอน  เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล ให้เป็นวงจรที่เกิดขึ้นพร้อมกันในชั้นเรียน โดยมุ่งให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง  และเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง
                            11.  ต้องมีการนำผลการประเมินแต่ละครั้งมาตรวจสอบพิจารณา  เพื่อปรับปรุง  หรือยืดหยุ่นวิธีการสอน  สื่อการเรียนการสอน  หรือกำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้สอดคล้องกับสภาพจริงของผู้เรียนแต่ละคน

3.              หลักการ ประเภท วัตถุประสงค์ของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
                    3.1 หลักการของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
                    ในการประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงานมีหลักการที่สำคัญดังนี้  (วัฒนาพร  ระงับทุกข์.    2541  :  10,  บูรชัย  ศิริมหาสาคร,  2541  :  13 - 14)
                            1. ให้ผู้เรียนเป็นผู้สะสมผลงานอย่างต่อเนื่องในเวลาที่กำหนดแล้วให้คัดเลือกผลงานที่นักเรียนพอใจเก็บใส่แฟ้ม เพื่อเป็นหลักฐานการแสดงถึงความรู้ ความสามารถตามจุดประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละหลักสูตร เพื่อดูพัฒนาการความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน  ทั้งในเชิงคุณภาพ  คือมีผลงานที่ดี และเชิงปริมาณ  คือมีผลงานที่มากพอ
                            2.  ต้องเป็นการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน  (cooperative  learning)  ระหว่างนักเรียน  ครู  ผู้ปกครอง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนในกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผลในฐานะผู้ประเมิน  มิใช่ผู้ถูกประเมิน ได้แก่
                                    2.1  การคัดเลือกผลงานที่พอใจด้วยตนเอง  (self  selection)
                                    2.2  การสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อผลงานของตนเอง  (self  reflection)
                                    2.3  การปรับปรุงตนเอง  (self  monitoring)
                                    2.4  การประเมินผลงานของตนเอง  (self  evaluation)
                            ทั้งนี้เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดอิสระสามารถเป็นผู้นำตนเอง  และเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง  อันเป็นแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์  ที่จะพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา  โดยไม่ต้องมีใครบังคับ
                            3.    มีการจัดระบบข้อมูลในแฟ้มสะสมผลงานอย่างเป็นระบบ (organizing)  ทำให้ข้อมูลที่เก็บสะสม เป็นสารสนเทศที่สมบูรณ์ สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการประเมินผลการเรียน  แบ่งออกเป็น  ตอน  ได้แก่
                                    ตอนที่  บทนำ  เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน
                                    ตอนที่  2  ผลงานที่สะสม  และหลักฐานการประเมิน
                                    ตอนที่  สรุปผลการประเมินแฟ้มสะสมงาน
                    ดังนั้นการให้นักเรียนเก็บสะสมผลงานไว้ในแฟ้มที่มิได้จัดระบบ จึงไม่ใช่  PORTFOLIO  ที่สมบูรณ์  แต่เป็นเพียงการเก็บสะสมข้อมูลธรรมดา  (folder)  เท่านั้น
                    แฟ้มสะสมผลงานจะต้องสามารถประเมินความรู้ความสามารถของผู้เรียน  โดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
                            1.  ด้านเนื้อหาวิชาจะต้องสะท้อนความรู้ความเข้าใจเนื้อหาวิชาทักษะความสามารถ  และคุณลักษณะการเรียนของผู้เรียน
                            2.  ด้านการเรียนการสอน จะต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้และผลงานของผู้เรียน  ดังนี้
                                    -  เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ให้ผู้เรียนสร้างความรู้หรืองาน  และตรวจสอบปรับปรุงด้วยตนเอง  รวมทั้งมีการประเมินตนเอง
                                    -  เน้นบรรยากาศการเรียนรู้อย่างอิสระ  โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา  ให้คำแนะนำกระตุ้น  สร้างขวัญและกำลังใจ
                            3.  ด้านความเสมอภาค  คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  ทั้งด้านความสามารถ  วิธีการเรียน  และความหลากหลายทางสติปัญญา  โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคคลไปสู่เกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดให้สูงสุดตามความสามารถแต่ละบุคคล

                    3.2 ประเภทของของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
                            ลักษณะหรือรูปแบบของแฟ้มสะสมผลงานขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่จัดทำขึ้นได้มีการจำแนกลักษณะของแฟ้มสะสมผลงานเป็นหลายลักษณะ  ดังนี้คือ
                            3.2.1 จำแนกตามบุคคล
                            1.  แฟ้มสะสมผลงานส่วนบุคคล  (personal  portfolio)  เป็นแฟ้มที่แสดงถึงบุคลิกภาพส่วนตัวของนักเรียนแต่ละคน  ทำให้ครูรู้จักความสามารถพิเศษ ความสนใจ  ความถนัดตามธรรมชาติของผู้เรียน  เพื่อเป็นประโยชน์ในการแนะแนวการศึกษา ภายในแฟ้มประกอบด้วยภาพกิจกรรมต่าง ๆ  นอกโรงเรียนที่นักเรียนทำเมื่อมีเวลาว่าง  เช่น  งานอดิเรกที่ชอบ  ดนตรี  กีฬา  และงานศิลปะ  เป็นต้น
                            2.  แฟ้มสะสมผลงานของโครงการต่าง ๆ (project  portfolio)  เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความพยายามทำงานตามโครงการจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษารายงานบุคคล  (independent  study)  เช่น  แฟ้มสะสมผลงานโครงการวิทยาศาสตร์  ในแฟ้มประกอบด้วย  ความเป็นมา  จุดประสงค์ของโครงการ  ขั้นตอนในการดำเนินงาน  วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้  และผลงานที่เกิดขึ้น  เป็นต้น
                            3.  แฟ้มสะสมผลงานทางวิชาการ  (academic  portfolio)  หรือแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน (student  portfolio)  เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความรู้ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนตามหลักสูตร  เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประเมินผลการเรียน  ซึ่งสามารถจัดทำรูปแบบต่าง ๆ  กัน  ดังนี้
                                    3.1  แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนเป็นรายบุคคล  โดยจัดทำเป็นรายวิชา  หรือจัดทำแบบบูรณาการรวมหลายวิชาก็ได้  ใน  ภาคการศึกษาหรือ  ปีการศึกษา  โดยให้นักเรียนเลือกผลงานที่ดีเด่นของแต่ละวิชามาเก็บสะสมไว้  ในระยะเวลาหนึ่ง ๆ  เช่น  ป.1 – .4  หรือ  ป.4 – .6  เพื่อให้เห็นพัฒนาการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
                                    3.2  แฟ้มสะสมผลงานของชั้นเรียน เพื่อเก็บสะสมผลงานที่แสดงถึงภาพรวมของความสำเร็จในชั้น  หรือการทำกิจกรรมของนักเรียนทั้งห้อง  เช่น  กิจกรรมการแสดงละคร  กิจกรรมกีฬา
                                    3.3  แฟ้มสะสมผลงานของโรงเรียน เพื่อเก็บสะสมผลงานที่แสดงถึงความสำเร็จในด้านการศึกษาของโรงเรียน  เช่น  กิจกรรมการประกวดของโรงเรียน
                            4.  แฟ้มสะสมผลงานวิชาชีพ  (professional  portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงความรู้ความสามารถของบุคคล  อาจทำได้โดยบุคคลหลายฝ่าย  เช่น  การสะสมแฟ้มผลงานเพื่อการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา แฟ้มสะสมผลงานเกี่ยวกับการฝึกสอน แฟ้มสะสมผลงานของครูเพื่อประเมินเลื่อนขั้น  หรือแฟ้มสะสมผลงานของพนักงาน  เพื่อประโยชน์สำหรับนายจ้างตรวจสอบพฤติกรรมการทำงานของพนักงาน

                            3.2.2 จำแนกตามระดับของการจัดทำแฟ้มสะสมงาน
                            1.  แฟ้มสะสมผลการดำเนินงานระหว่างดำเนินการ  (working  portfolio)  เป็นแฟ้มที่อยู่ระหว่างการสะสมรวบรวมชิ้นงาน  ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นจากการเรียนการสอน  ที่สอดคล้องกับสภาพการเรียนจริง (authentic  learning) อาจจะเป็นผลงานที่ยังทำไม่เสร็จหรือทำเสร็จแล้วและผ่านการประเมินโดยบุคคลต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องแล้ว  แต่ยังมิได้คัดเลือกผลงานที่พอใจ  การจัดเก็บยังไม่เป็นระบบ  จึงไม่ใช่แฟ้มสะสมผลงานที่สมบูรณ์
                            2.  แฟ้มสะสมผลงานที่สมบูรณ์  (final portfolio  หรือ  portfolio  evidence)  เป็นแฟ้มที่ผู้เรียนคัดเลือกงานเพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ  เช่น  เลือกงานชิ้นที่ดีที่สุด  งานแสดงความก้าวหน้างานที่ตอบสนองจุดประสงค์การเรียนรู้  หรือตอบสนองความสามารถทางด้านสติปัญญาที่หลากหลาย  เป็นแฟ้มที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จในการเรียน  สามารถใช้เป็นหลักฐานในการตัดสินผลการเรียนรู้  สามารถนำแฟ้มสะสมผลงานฉบับสมบูรณ์มาจัดนิทรรศการ  เพื่อแสดงให้ผู้อื่นได้ชม  ด้วยเหตุนี้บางทีจึงเรียกว่า  Showing  portfolio

                                    3.2.3 จำแนกตามลักษณะธรรมชาติของวิชา
                            การจัดทำแฟ้มผลงานนักเรียนสามารถจำแนกตามลักษณะธรรมชาติของวิชา  ได้  ประเภท  ดังนี้
                            1.  แฟ้มสะสมผลงานที่แสดงถึงความก้าวหน้าของนักเรียน  (progress  portfolio)  เป็นการเก็บสะสมผลงานในวิชาทักษะที่ต้องการให้นักเรียนฝึกฝน  หรือทำซ้ำในเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ  เช่น  แฟ้มสะสมผลงานการคัดลายมือ  เรียงความ  งามศิลปะ  เป็นต้น  แฟ้มสะสมผลงานประเภทนี้จะแสดงให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงพัฒนาการความก้าวหน้า ในเรื่องที่ฝึกฝนตามจุดประสงค์ของหลักสูตร
                            2.  แฟ้มสะสมผลงานที่แสดงถึงความรอบรู้ของผู้เรียน  (mastery  portfolio)  เป็นการเก็บสะสมผลงานในวิชาที่นักเรียนต้องศึกษาค้นคว้า  ทดลองปฏิบัติ  เพื่อสร้างองค์ความรู้  หรือแสดงออกถึงความรอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ  เช่น  แฟ้มสะสมผลงานกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต  แฟ้มสะสมผลงานประเภทนี้จะแสดงออกถึงความรอบรู้ที่หลากหลายของนักเรียนตามจุดประสงค์ของหลักสูตร
                                    3.2.4 จำแนกตามจุดประสงค์การนำไปใช้เป็น  ลักษณะ                     1.  แฟ้มสะสมผลงานถาวร  (permanent)  เป็นการเก็บข้อสนเทศทั้งหมดของผู้เรียนไว้  ทำให้เห็นภาพของนักเรียนแต่ละคนอย่างชัดเจน  ตัวอย่างผลงานจะถูกคัดเลือกมาอย่างดี  แฟ้มนี้จะทำให้ทราบประวัติส่วนตัว  สุขภาพนักเรียน  การพัฒนาการของนักเรียน  การเปลี่ยนแปลงของเจ้าของแฟ้มทั้งการเรียนและความสามารถของนักเรียน  แฟ้มนี้จะใช้ติดตัวในการเรียนชั้นสูงต่อไป  หรือใช้เป็นหลักฐานในการติดต่อหรือใช้ในการสมัครงาน
                            2.  แฟ้มสะสมผลงานความก้าวหน้า  (works  in  progress)  เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักเรียน  แสดงให้เห็นถึงความพยายาม  ความก้าวหน้า  รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  โดยมีหลักฐานในการจัดระบบข้อมูล  มีเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงาน  และมีเกณฑ์ในการตัดสินคุณค่า  จะต้องสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเจ้าของแฟ้มในการพัฒนาความก้าวหน้าในด้านความสามารถ  เจตคติ  ทักษะ  ความคาดหวัง
                            3.  แฟ้มสะสมผลงานปัจจุบัน  (current  year)  เป็นแฟ้มสะสมงานที่ใช้ประเมินผลการเรียนของนักเรียนร่วมกับการสอบวัดอื่น ๆ  เป็นแฟ้มที่บอกถึงความสามารถของนักเรียนแต่ละรายวิชา  ทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นรายวิชาและความก้าวหน้า  ชิ้นงานที่สะสมในแฟ้มผลงานต้องได้รับการคัดเลือกโดยยึดเกณฑ์ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้  และสอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนการสอน  สะท้อนให้เห็นสภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูอีก

                    3.3 วัตถุประสงค์ของของการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
                    1.    เพื่อพัฒนาสมรรถภาพและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
                    2.    เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ด้วยการปฏิบัติจริงทำให้นักเรียนเกิดนิสัยรักการทำงาน  และส่งเสริมการเรียนรู้ตามสภาพจริง
                    3.    เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองแทนการท่องจำความรู้เพื่อพัฒนาพุทธิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา
                    4.    เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน ระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครองใน               กิจกรรมการเรียนการสอน  และการประเมินผล
                    5.    เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการเก็บสะสมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล    คัดเลือก  จัดเก็บ  และนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ  จัดทำแฟ้มสะสมผลงาน  เพื่อเป็นการเตรียมคนให้พร้อมและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมข้อมูลข่าวสาร
                    6.    เพื่อให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในความก้าวหน้าและความสำเร็จของตนเองทำให้เกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการเรียน

4.              กระบวนการในการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงาน
                    การจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน  มีกระบวนการหรือขั้นตอนอยู่หลายขั้นตอน  แต่ผู้ใช้สามารถที่จะปรับได้ตามความเหมาะสม  Burke  K.  (1994) ได้กำหนดขั้นตอนการทำแฟ้มสะสมผลงานไว้  10  ขั้นตอน  สรุปเป็นแผนภาพ ดังนี้
 


























5. โครงสร้างของแฟ้มสะสมผลงาน
                    โครงสร้างแฟ้มสะสมผลงานที่ใช้อยู่ในประเทศอเมริกา  แบ่งออกเป็น  ส่วน  ดังนี้ (Bruke  K.  1994)
                            ส่วนที่  เป็นส่วนนำ  ประกอบด้วย  ปก  ประวัติผู้ทำ  รายการจุดประสงค์การเรียนรู้  แผนการศึกษาส่วนบุคคล  สารบัญชิ้นงาน  ตัวชี้บ่งประกอบงาน  รายการเอาออกและนำเข้าชิ้นงาน
                            ส่วนที่  เป็นที่เก็บชิ้นงานที่สร้างขึ้นจากการเรียนการสอน  การสะท้อนความคิดเห็น  แสดงประวัติของงาน  จำนวนหนังสือที่อ่าน  เวลาที่ใช้ทำงาน  คะแนนจากการสอบ  แบบสำรวจรายการของครู  บันทึกความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน  หรือวิชาที่เรียน
                            ส่วนที่  เป็นที่เก็บเกณฑ์การตัดสินแฟ้มงาน  และข้อมูลการประเมินของครู  เพื่อน  และผู้ปกครอง  รวมทั้งหลักฐานการประเมินตนเองของนักเรียน  แผนการและแนวคิดในการประชุมแฟ้มผลงาน
                    สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีการกำหนดโครงสร้างแฟ้มสะสมผลงานอย่างเป็นทางการขึ้นอยู่กับการออกแบบของนักการศึกษา  หรือครูผู้สอนแต่ละคน  ดังนี้
                            โครงสร้างแฟ้มสะสมผลงานของชัยฤทธิ์  ศิลาเดช  (2540)  มีลักษณะดังนี้
                                    1.  ส่วนนำ  ประกอบด้วย
                                            1.1  ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน
                                            1.2  สารบัญ
                                            1.3  จุดประสงค์การเรียนรู้  ข้อตกลง  เกณฑ์การตัดสินผลงาน
                                    2.  ส่วนเนื้อหา  (content)  ประกอบด้วยผลงานหรือหลักฐานที่นักเรียนเลือก
                                    3.  ส่วนสนับสนุน  (support)  ประกอบด้วย
                                            3.1  แผนพัฒนาปรับปรุงการเรียน
                                            3.2  สรุปผลความก้าวหน้าในการเรียนเป็นรายเดือน
                                            3.3  ผลการสอบ  ผลการสังเกต  และประกาศนียบัตร
                                    4.  สรุปผลการประเมิน
                            โครงสร้างแฟ้มสะสมผลงานของศูนย์พัฒนาหลักสูตร  กรมวิชาการ  (2540)  มีลักษณะดังนี้
                                    1.  สารบัญ
                                    2.  คำนำ
                                    3.  ประวัติส่วนตัว
                                    4.  ชิ้นงาน
                                    5.  แบบทดสอบต่าง ๆ
                                    6.  การประเมินตนเอง
                                    7.  การประเมินโดยเพื่อน
                                    8.  การประเมินโดยครูผู้สอน
                                    9.  การประเมินโดยผู้ปกครอง
                                    10.  การประเมินโดยผู้สนใจอื่น ๆ
                                    11.  ความรู้สึกต่อวิชา
                                    12.  ภาคผนวก

6. วิธีการประเมินแฟ้มสะสมผลงาน
      6.1 ลักษณะการประเมิน
                    1.  การประเมินตนเอง
                            1.1  จุดประสงค์เพื่อประเมินความสำเร็จ  และเพื่อความภาคภูมิใจ  โดยให้ผู้เรียนเลือกผลงานเด่นของตนเอง  ที่เห็นว่าดีที่สุดในแต่ละลักษณะงาน  เพื่อประเมินผลขั้นสุดท้าย  (summative)  และเปรียบเทียบกับผลงานในลักษณะเดียวกัน  เพื่อหาข้อบกพร่องและการปรับปรุงตนเอง
                            1.2  ครูแนะนำวิธีการประเมินตนเอง  โดยใช้คำถามในแต่ละประเด็น  เช่น  มีความคิดเห็นอย่างไรต่อแฟ้มสะสมงาน  อะไรคือสิ่งที่ฉันต้องการรู้  อะไรคือสิ่งที่ฉันรู้แล้ว
                    2.  การประเมินของครู
                            2.1  ครูประเมินชิ้นงานตามเกณฑ์คุณภาพที่กำหนด
                            2.2  ประเมินเป็นภาพรวม  (holistic  scoring)  ของงานประเภทนั้น ๆ  แม้ว่าจะใช้การเก็บเป็นคะแนนแบบ  analytic  scoring  ก็ต้องให้ความหมายของคุณภาพงานในภาพรวมได้
                    3.  การตรวจสอบแฟ้มสะสมผลงาน
                            ครูคอยตรวจสอบแฟ้มสะสมผลงาน  โดยพิจารณาจาก
                            3.1  นักเรียนคิดเอง  ทำเองหรือไม่
                            3.2  กระบวนการมีคุณภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่
                            3.3  ปฏิบัติได้จริงหรือไม่
                            3.4  การจัดการมีประสิทธิภาพหรือไม่
3.5      เป็นผลต่อการพัฒนาผู้เรียนมากน้อยเพียงใด
                    การประเมินผลงานของนักเรียน จะต้องประกอบด้วยกระบวนการประเมินผล  วิธี  คือ
                            1.  การตรวจสอบผลงาน  (examination)  คือการตรวจสอบความถูกต้องของผลงาน  โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่า  เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่
                            2.  การประเมินผลงาน  (evaluation)  คือ  การตัดสินคุณค่าของผลงาน  ภายหลังจากที่ทำการตรวจสอบแล้วตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้  และมีการจัดลำดับคุณภาพของผลงานนั้น  โดยเน้นการประเมินตนเองมากที่สุด  (self  evaluation)
                            3.  การวิจารณ์ผลงาน  (critiques)  คือการเสนอและข้อคิดเห็นต่าง ๆ  เกี่ยวกับผลงานนั้นหลังจากทำการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์แล้ว  เช่น  บอกจุดเด่นหรือจุดด้อยของผลงาน  และข้อควรปรับปรุงแก้ไข  โดยเน้นการวิจารณ์ตนเอง  หรือการสะท้อนตนเอง  (self  reflection)
                    การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน  มิได้เน้นการตรวจสอบผลงานว่า  ถูก”  หรือ  ผิด”  หรือเน้นการประเมินผลว่า  ดีหรือเลว”  แต่จะเน้นการวิจารณ์ผลงานว่ามี  ข้อดีหรือข้อด้อยที่ควรปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง”  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาผลงานให้ก้าวหน้า  มากกว่าการตรวจสอบและการประเมินผล  เพื่อตัดสินผลการเรียนเพียงประการเดียว
     
      6.2 แนวทางการประเมิน
                    พอลสัน  (Paulson.  1990  :  5)  ได้เสนอแนวทางในการประเมินแฟ้มสะสมผลงาน  ดังนี้
                            1.  ตรวจสอบดูว่า  ผลงานในแฟ้มแต่ละชิ้นมีลักษณะครบ  ประการ  หรือไม่  เช่น
                                    1.1  เป็นผลงานที่ตรงกับเป้าหมาย  หรือสามารถตอบสนองจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้หรือไม่
                                    1.2  มีการสะท้อนข้อมูลย้อนกลับของผลงาน  (reflection)  หรือไม่
                                    1.3  มีการรับรองคุณค่า  (captions)  ของผลงานหรือไม่  เช่น  เขียนบรรยายว่า  ผลงานนี้คืออะไร  เพราะอะไรจึงเลือกผลงานนี้
                            2.  พิจารณาดูความก้าวหน้า  และความสำเร็จของผลงานว่า  บรรลุตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่  ถ้ายังไม่บรรลุจุดประสงค์  หรือนักเรียนยังไม่ก้าวหน้า  ครูต้องพิจารณาให้นักเรียนสร้างผลงานในเรื่องนั้นเพิ่มเติม  เพื่อเป็นการซ่อมเสริมหรือการพัฒนาผู้เรียน
                            3.  ปัญหาที่พบในการประเมินแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน คือ  ถ้าผลงานหรือหลักฐานในแฟ้มมีน้อยจนเกินไป  การประเมินความก้าวหน้าจะได้ภาพที่ไม่ชัดเจน  แต่ถ้าผลงานในแฟ้มมีมากเกินไป  ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า  ผลงานใดเป็นผลงานเด่น  หรือผลงานใดตอบสนองจุดประสงค์การเรียนรู้ในข้อใด  เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว  ครูควรให้คำแนะนำนักเรียนอย่างสม่ำเสมอในการเก็บสะสมผลงานหรือหลักฐานให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้

                    แรนดอล์และคณะ  (Randall,  Lester,  and  O’Daffer.  1987  อ้างถึงใน  Farr,  R.  1994)  ได้เสนอวิธีการเบื้องต้น  ในการประเมินผลแฟ้มสะสมงานที่นิยมปฏิบัติไว้ดังนี้  คือ
                            1.  การประเมินแบบแยกองค์ประกอบ  (analytic  scoring)  คือ  การประเมินผลงานในแฟ้มสะสมผลงาน  โดยแยกประเมินงานแต่ละชิ้น  แล้วนำคะแนนมารวมกัน  หาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนรวมของแฟ้มสะสมผลงานทั้งแฟ้ม
                            2.  การประเมินแบบองค์รวม  (holistic  scoring)  คือการประเมินผลงานโดยมองภาพรวม  (focused  holistic  approach)  ของผลงานทั้งหมดในแฟ้ม  (ไม่แยกเป็นรายชิ้นโดยนำไปเทียบกับเกณฑ์การประเมินที่บรรยายถึงคุณลักษณะของผลงาน  ในแต่ละระดับคุณภาพ  จากระดับสูงสุดถึงต่ำสุดตามแบบประเมินด้วย  scoring  rubric

      6.3 การสร้างเกณฑ์ในการประเมินแฟ้มสะสมผลงาน
                    การประเมินผลการเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน  เป็นการประเมินกระบวนการชิ้นงาน/ผลงานที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำ  ผลิตหรือสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง  เป็นการประเมินโดยการบรรยายถึงงานที่ทำเหมือนกับให้ตอบคำถามปลายเปิด  โดยผู้เรียนสามารถตอบคำถามได้หลายลักษณะ  พร้อมทั้งมีเหตุผลหรือคำอธิบายประกอบ  การตรวจให้คะแนนไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน  ต้องกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อให้มีความเป็นปรนัย  เชื่อมั่นและแปลผลได้ เกณฑ์จึงเป็นสิ่งสำคัญของการประเมินผลการเรียนโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน  ต้องชัดเจนสามารถสะท้อนคุณภาพของผลงานได้  จุดมุ่งหมายหลักที่สำคัญในการใช้แฟ้มสะสมงาน  คือ  การประเมินอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม  เพื่อให้การใช้ข้อมูลกลับระหว่างครูกับนักเรียนสามารถดำเนินการควบคู่กันไปกับการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา  นักเรียนจะต้องเลือกชิ้นงานอย่างพิถีพิถันเพื่อแสดงถึงพัฒนาการ  ความเจริญก้าวหน้าในการเรียนตามจุดประสงค์ของบทเรียนนั้น ๆ  ดังนั้นก่อนเริ่มต้นกระบวนการใช้แฟ้มสะสมงาน  จึงต้องกำหนดจุดหมายให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐานประกอบกับสิ่งอื่น ๆ  เช่น  ความมานะพยายามของนักเรียน  การประเมินตนเองอย่างมีคุณภาพของนักเรียน  โครงงานที่มีคุณค่าและเป้าหมายในอนาคต ในการสร้างเกณฑ์สำหรับตัดสินแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน  จึงต้องกำหนดสิ่งต่อไปนี้ให้ชัดเจนก่อน (บุญเชิด  ภิญโญอนันตพงษ์.  2538  :  15-16)
                            1.  จะประเมินตัวอย่างงานโดยรวมหรือแยกประเมินเป็นรายชิ้นงาน
                            2.  จะใช้คุณลักษณะ/มิติใดบ้าง  ที่สามารถสะท้อนภาพรวมของจุดประสงค์การประเมิน
                            3.  ชิ้นงานต่าง ๆ  ที่อยู่ในแฟ้มสะสมผลงาน  จะประเมินความก้าวหน้าหรือการเจริญงอกงามได้หรือไม่  จะประเมินความก้าวหน้าได้อย่างไร  จะประเมินชิ้นงานแต่ละชิ้นด้วยน้ำหนักความสำคัญที่เท่ากันหรือแตกต่างกัน  จะกำหนดบทบาทการประเมินตนเองอย่างไร  จะใช้ผู้ปกครองด้วยหรือไม่
                    กระบวนการสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแฟ้มสะสมผลงานดำเนินการเป็นขั้นตอนดังนี้
                            1.  ศึกษาวิธีการนิยามคุณภาพการทำงาน
                            2. เก็บรวบรวมเกณฑ์การให้คะแนนที่ใช้ประเมินทักษะ  การเขียน  การพูด  งานศิลปะ  หรืองานอื่น ๆ  เพื่อนำมาเป็นแม่แบบที่จะนำมาดัดแปลงใช้ตามจุดมุ่งหมายของตนเอง
                            3. เก็บรวบรวมตัวอย่างงานของนักเรียนทำกับตัวอย่างของผู้เชี่ยวชาญทำ  ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันจากคุณภาพต่ำจนถึงคุณภาพสูง
                            4.  นำคุณลักษณะสำคัญของแม่แบบเหล่านั้น  มาอภิปรายว่าสามารถนำมาจำแนกคุณภาพงานได้หรือไม่
                            5.  เลือกคุณลักษณะที่ได้ไว้แล้วเขียนคำบรรยายตามลักษณะสำคัญเหล่านั้น
                            6.  เลือกตัวอย่างงานของนักเรียนมาอีกชุดหนึ่ง  แล้วทดลองใช้เกณฑ์การให้คะแนนกับงานดังกล่าว
                            7.  แก้ไขปรับปรุง
                            8. ทดลองอีกจนกระทั่งมั่นใจว่าคะแนนที่ได้จากการตรวจตามเกณฑ์สามารถใช้แทนคุณภาพของงานเหล่านั้นได้
                    De  fina  A.  A.  1992  :  37-40)  ได้เสนอขั้นตอนตั้งเกณฑ์ ดังนี้
                                    1.  วิเคราะห์แบบองค์รวมแล้วให้คะแนน  (analytic  holistic  scoring)  ด้วยการใช้แบบประเมินเป็นรายข้อ  แล้วรวมคะแนนออกมา
                                    2.  การตั้งเกณฑ์  (criteria)  โดยการกำหนดเกณฑ์ไว้ล่วงหน้า  ว่าผู้เรียนต้องทำได้ถึงระดับใดจึงจะได้เกรดที่กำหนด
                                    3.  ใช้แบบรายงาน  (report  card)  เป็นแบบรายงานที่บรรยายว่าผู้เรียนต้องทำได้แค่ไหนจึงจะได้คะแนนระดับที่กำหนด  ในการบรรยายต้องใช้วิธีการประเมินเชิงบวกมากกว่าลบ  ซึ่งต่างจากการประเมินแบบดั้งเดิม  เช่น  พอใจ”  (satisfactory)  “ต้องพัฒนาขึ้นอีก”  (needs  improvement)  ในแบบรายงานใช้วิธีการตรวจสอบรายการ  (checklist)  แล้วมีช่องให้ผู้ประเมินเขียนข้อเสนอแนะ
                                    4.  ใช้วิธีการรายงานความสำเร็จ  (achievement  report)  สามารถใช้เพิ่มเติมใน  report  card  เป็นส่วนที่ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายและประเมินการทำงานในแต่ละส่วน
                                    5.  การจัดสัมมนาครู  นักเรียน  และผู้ปกครอง  แล้วนำข้อมูลเข้าไปประกอบการทำ  report  card  ใช้กำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน

      6.4 ปัญหาที่พบได้ในการประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงาน  (De  Fina  A.  A.  1992  :  57-60)
                    1.  การกำหนดเกณฑ์  (criteria  selection)  การกำหนดเกณฑ์ในการประเมินเป็นงานที่ยากเนื่องจากเป็นกระบวนการที่แต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตนเอง  บางโรงเรียนใช้วิธีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น  (ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนและผู้ปกครองในการกำหนดเกณฑ์  เกณฑ์ที่ตั้งไว้จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้กระบวนการประเมินพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ
                    2.  การประเมินของครู  (teacher  assessment)  มักประสบปัญหาในเรื่องการประเมินผลงานของผู้เรียน  เนื่องจากการกำหนดเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนหรือไม่ได้กำหนด  ทำให้ครูไม่รู้จักด้วยภาพที่แท้จริงของผู้เรียน  จึงไม่สามารถวินิจฉัยปัญหาและหาทางแก้ปัญหาผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง  ดังนั้นครูจำเป็นต้องได้รับการอบรมให้เข้าใจถึงการประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงาน  เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้แฟ้มสะสมผลงานและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียน
                    3.  การประเมินตนเองของผู้เรียน  (student  self – assessment)  ในระบบการเรียนแบบดั้งเดิม  ทำให้ผู้เรียนไม่คุ้นเคยการให้เป็นผู้ตัดสินผลงานที่ตนเองทำ  แต่ในการประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงานผู้เรียนจะมีอิสระในการตรวจสอบผลงานของตนเอง  ผู้สอนอาจแก้ปัญหาโดยใช้รูปแบบการประเมินตนเองที่ทำขึ้น  หรือสาธิตวิธีการประเมินตนเองให้แก่ผู้เรียนในตอนเริ่มต้น  และต่อไปผู้เรียนก็จะสามารถประยุกต์มาตรฐานนี้ในการประเมินงานของตนเอง

7. ประโยชน์ของแฟ้มสะสมผลงานต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
                    1.  เป็นกิจกรรมเน้นการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนเป็นสำคัญ  ฝึกให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง  มุ่งให้นักเรียนทำได้มากกว่าจำได้  มีผลการวิจัยยืนยันว่า 
                    2.  การออกแบบกิจกรรมและภาระงานในแฟ้มสะสมผลงานประเภทเน้นความก้าวหน้า  เช่น  แฟ้มสะสมผลงานชนิดคัดลายมือ  เรียงความ  เป็นการฝึกการปฏิบัติ  เพื่อให้เกิดทักษะในการเขียน  สามารถออกแบบกิจกรรมให้กลายเป็นการประเมินตามสภาพจริง ได้ด้วยการให้นักเรียนคิดเองว่าจะคัดลายมือหรือเขียนเรื่องอะไร  ตามความสนใจ  การที่เปิดโอกาสให้นักเรียนคิดสร้างงานตามโลกแห่งความเป็นจริงของนักเรียน จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำงานนั้นให้เกิดความสำเร็จอย่างดีที่สุด  และเกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของงาน  เกิดเจตคติที่ดีต่องานนั้น
                    3.  เน้นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การลงมือสร้างผลงานจะทำให้เกิดปัญญา  ที่ได้จากการปฏิบัติ ทำให้นักเรียนได้สังเคราะห์ความรู้ขึ้นเอง  หรือสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง  คิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง  จัดเป็นพุทธพิสัย  (ความสามารถทางสมอง) ขั้นสูงกว่าความจำและความเข้าใจ 
                    4.  เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน  (cooperative  learning)  ระหว่างครู  นักเรียน  และผู้ปกครอง  โดยเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผล  ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาการเรียนการสอน
                    5.  เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา  ที่รวมเอากิจกรรมการสอนของครู  กิจกรรมการเรียนของนักเรียน  และกิจกรรมการประเมินผลทางการศึกษา  ทั้ง  อย่างเข้ามารวมเบ็ดเสร็จเป็นหนึ่งเดียว  คือ  เป็นกิจกรรมที่  สอนไป  เรียนไป  สอบไป”  เสร็จสิ้นในตัวเอง  ซึ่งจะช่วยให้สามารถประเมินความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน  เนื่องจากเชิงจิตวิทยาให้ความเห็นในการสอบว่า  บุคคลจะปฏิบัติงานอย่างเต็มศักยภาพ  ถ้าไม่รู้สึกว่าตนถูกสังเกต”  การประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงานจะทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าตนถูกประเมิน  การวัดผลเป็นครั้งคราวจากแบบทดสอบอาจจะไม่สามารถวัดความสามารถของผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง
                    6.  การประเมินผลการเรียนด้วยแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน  สามารถใช้แก้ปัญหาจุดอ่อนของการใช้แบบทดสอบความรู้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  เนื่องจากข้อสอบในปัจจุบันจะวัดความรู้เป็นส่วน ๆ  ยังไม่เน้นการสอบโดยใช้เนื้อหาย่อย ๆ  มาผสมผสานกันเพื่อแก้ปัญหา  หรือการใช้ความคิดซับซ้อนระดับสูง  นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องศูนย์เทียม  เช่น  การสอบที่ทำให้นักเรียนได้  มิได้หมายความว่านักเรียนไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น  เนื่องจากการสอบเป็นการสุ่มความรู้ของนักเรียนว่ามีความรู้ตรงตามข้อสอบหรือไม่เพราะเนื้อหาวิชาที่มีมากมายไม่สามารถนำมาออกข้อสอบได้หมด  ครูต้องเลือกหาเนื้อหาสำคัญตามจุดประสงค์การเรียนรู้  ทำให้ไม่สามารถวัดความรู้ของนักเรียนได้ครอบคลุมในทุกเรื่อง  ทำให้ไม่ยุติธรรมต่อผู้เรียน  การประเมินผลจากการสอบไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง  ผู้เรียนไม่สามารถแสดงออกถึงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่  นอกจากนี้ในการสอบบางครั้ง  ผลการสอบอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  เพราะเวลาในการทำข้อสอบจำกัดหรือไม่สบายใจขณะทำข้อสอบ  การสอบไม่สามารถวัดความก้าวหน้าของผู้เรียนได้  สังเกตได้จากการวัดผลก่อนเรียนและหลังการเรียน  แล้วดูพัฒนาการตัวเลขที่เป็นคะแนน  คะแนนที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถแปลความหมายไว้ว่า  นักเรียนคนนั้นมีพัฒนาการในเรื่องใดเพิ่มขึ้นบ้าง  การตัดสินความสามารถของผู้เรียนโดยพิจารณาจากผลงานที่นักเรียนทำจะดีกว่า  การสอบยังไม่สามารถสรุปอ้างอิง  (generalrized)  ถึงคุณลักษณะบางประการของผู้เรียนได้  เช่น  การทำข้อสอบได้ถูกต้องหมดไม่สามารถสรุปได้ว่านักเรียนสามารถปฏิบัติได้ตามที่เขียนในกระดาษคำตอบ
                    7.  การประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงาน  มีความเที่ยงตรง  (validity)  ดีกว่าแบบทดสอบความรู้  เนื่องจากการประเมินโดยแฟ้มสะสมผลงานเป็นการวัดผลโดยตรง  มิใช่การวัดผลโดยอ้อมที่ใช้ข้อสอบเป็นตัวสะท้อนความรู้ผู้เรียนอีกต่อหนึ่ง  นอกจากนี้การประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงาน  ยังยืนยันความเชื่อมั่น  (reliability)  ในพฤติกรรมของนักเรียนได้ดีกว่าแบบทดสอบความรู้
                    ในประเด็นเรื่อง  ความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นนี้  เอลโบว์  (Elbow.   1991  อ้างถึงในบูรชัย  ศิริมหาสาคร.  2541)  กล่าวว่า  การประเมินผลด้วยแฟ้มสะสมผลงานมีความเที่ยงตรงสูงอย่างยิ่ง  (external  valid)  เมื่อเทียบกับการวัดผลในปัจจุบัน  โดยให้เหตุผลว่า  การประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงานได้วัดตัวแปรต่าง ๆ  ที่ซับซ้อน  (complex  variables)  อย่างละเอียดรอบด้าน  จึงส่งผลให้เห็นความสามารถที่แท้จริงของนักเรียนอย่างมีความแม่นยำ  (accurately)  และการวัดตัวแปรที่มีความซับซ้อนนี้เอง  ทำให้ความเชื่อมั่น  (reliability)  ในการลงความเห็นในการตัดสินให้คะแนนของครู  หรือผู้ให้ระดับคะแนน  (graders)  แต่ละคนค่อนข้างต่ำ
                    การสร้างเกณฑ์ในการให้ระดับคะแนนของแฟ้มสะสมผลงานขึ้น  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการให้คะแนนแก่ครูหรือผู้ให้คะแนนแต่ละคน เพื่อให้นักเรียนได้รับความยุติธรรมด้วยการประเมินผลงานตกเกณฑ์ที่มีมาตรฐานเดียวกัน  ด้วยการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบ  scoring  rubric  หรือการประเมินแฟ้มสะสมผลงานของแรนดอส์และคณะ  จะทำให้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของการประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงานได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
                    8.  แฟ้มสะสมผลงานช่วยสร้างนิสัยรักการทำงานให้แก่นักเรียน  เพราะเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองและประเมินผลงานด้วยตนเอง  ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน

บทสรุป

                    การประเมินโดยแฟ้มสะสมงาน เป็นการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมุ่งที่จะพัฒนาผู้เรียนมากกว่า การตัดสินว่าได้หรือตก ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา ตามแนวทางที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจึงต้องเป็นผู้กำหนดกิจกรรมหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนแสดงออกซึ่งศักยภาพหรือความสามารถที่มีอยู่ในตน  ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง แล้วสรุปความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ  โดยไม่จำเป็นต้องบอกความรู้ทั้งหมดให้แก่นักเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดหาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาเอง เป็นผู้นำตนเอง  สามารถนำความรู้ไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

หนังสืออ่านประกอบ

                    ชัยฤทธิ์  ศิลาเดช. (2540). การพัฒนาแฟ้มสะสมงานในการประเมินผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
                   บุญเชิด  ภิญโญอนันตพงษ์.  2538. การประเมินผลแนวใหม่ : พอตโฟลิโอ. วารสารศึกษาศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กันยายน 2538.
                    บูรชัย  ศิริมหาสาคร.  (2541). Portfolio กับการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร : Edutext.
                   ศูนย์พัฒนาหลักสูตร  กรมวิชาการ.  (2540). เอกสารศูนย์พัฒนาหลักสูตร. กรุงเทพมหานคร : กรมวิชาการ.
Allen A. De Fina. (1992). Portfolio assessment :getting started. New York : Scholastic Professional Books.
                Annie W. Ward and Mildred Murray-Ward. (1999). Assessment in the Classroom. Belmont, CA :  Wadsworth Publihing.
Burke  K.  (1994). Rhe mindful school : the portfolio connection. Paratine : Skylight.
Farr,  R.  (1994). Portfolio and performance assessment : helping students evaluate their progress as readers and writers. Fort Worth : Harcourt Brace college.
John Salvia and James E. Ysseldyke. (1998). Assessment. 7th. Boston : Houghton mifflin.

เว็ปไซต์ที่เกี่ยวข้อง

                http://www.nclrc.org/portfolio/modules.html

แบบฝึกหัดประจำท้ายบทที่  8

                    ออกแบบพัฒนาแฟ้มสะสมงานของนักเรียนในการประเมินการเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พร้อมกำหนดเกณฑ์ในการให้คะแนน 

No comments:

Post a Comment

ได้ข้อมูลแล้ว ก็ช่วยกันคอมเม้นด้วยนะค่ะ