วิกฤต "ดูไบ เวิลด์" บทเรียนอาหรับ บทเรียนเศรษฐกิจโลก
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4163
วิกฤตของกลุ่มบริษัท ดูไบ เวิลด์ กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกอย่างเหนือความคาดหมาย แม้ว่านักวิเคราะห์ที่ติดตามเศรษฐกิจของดูไบและโลกอาหรับทั้งภูมิภาค จะมั่นใจว่า ที่สุดแล้วรัฐบาลและธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ย่อมต้องทุ่มเทความพยายามเพื่อโอบอุ้มรัฐที่เคยแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางการค้าและการเงินของตะวันออกกลางให้อยู่รอดได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤต "ดูไบ เวิลด์" เป็นบทเรียนราคาแพงของรัฐดูไบ ที่มีบทบาทสำคัญเคียงคู่มากับอาบูดาบี รัฐที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดและของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองด้วย
ในแง่ของรัฐดูไบ แม้วางตำแหน่งรัฐเป็นเสมือนประตูของโลกอาหรับ เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ โดยอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และคุณภาพของทุนมนุษย์ในรัฐ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคลากรที่ตัดสินใจเลือกที่จะอาศัยอยู่และดำเนินชีวิตในรัฐนี้
อย่างไรก็ตามความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของดูไบเติบโตจากการก่อหนี้มากเกินตัวของกลุ่มทุนเสาหลัก โดยเฉพาะดูไบ เวิลด์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในรัฐที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ของยุคบูมทางเศรษฐกิจ
ดูไบ เวิลด์ มีหนี้สินที่แบกรับภาระอยู่ทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านดอลลาร์ นับถึงวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างแหล่งข่าววงการธนาคารในดูไบระบุว่า ในจำนวนนั้นราว 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นหนี้ที่เกิดจากบริษัทในเครือ อาทิ ดีบี เวิลด์ ซึ่งมีศักยภาพทางการเงินมากเพียงพอที่จะชำระเงินกู้ของตัวเองได้ แต่อีก 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เหลือ เป็นหนี้ที่น่าวิตกกังวลมากกว่า
กลุ่มทุนดูไบ เวิลด์ ขยายอาณาจักรและมีการเติบโตรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ก่อหนี้มากเกินไป เห็นได้จากก่อหนี้เพื่อมาสนับสนุนโครงการยักษ์ที่หลายฝ่ายคลางแคลงใจต่อฐานะทางการเงิน อาทิ โครงการก่อสร้างตึกระฟ้า 810 เมตร "เบอร์จ ดูไบ" ซึ่งเป็นตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก จนถึงโครงการก่อสร้างก่อตามแนวชายฝั่ง เพื่อเป็นที่ตั้งของวิลล่าหรูหราที่มีความยาวนับเป็นไมล์ ๆ
วอลล์สตรีต เจอร์นัล ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน รายงานอ้างมุมมองของบริษัทคอลลิเยส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในปี 2552 จะมีการยกเลิกหรือเลื่อนโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายร้อยโครงการ แต่คาดว่าการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ จะทำให้อุปทานของพื้นที่สำนักงานในดูไบเพิ่มเป็น 2 เท่า ภายในปี 2554
จากการศึกษาของบริษัทนี้ยังพบว่า อัตราการเข้าถือครองพื้นที่สำนักงานในอาคารที่สร้างเสร็จอยู่ที่ระดับแค่ 41% เท่านั้น ขณะที่นับถึงสิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมาราคาพื้นที่สำนักงานดิ่งลงราว 58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมที่ปรึกษาและวิศวกรรมซึ่งเป็นสมาคมตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างอังกฤษเปิดเผยว่า บริษัทต่าง ๆ ในดูไบเป็นหนี้บริษัทรับเหมา เฉพาะจากอังกฤษประเทศเดียวรวม 200 ล้านปอนด์
กุญแจสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของดูไบขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างดูไบและรัฐอาบูดาบี ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์นาฮายัน พระญาติของชีค มัคตูม ผู้ครองรัฐดูไบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจตะวันออกกลางต่างเชื่อมั่นว่า ในที่สุดแล้ว อาบูดาบีซึ่งมีความมั่งคั่งทางการเงินมากกว่า เนื่องจากครอบครองแหล่งน้ำมัน 1 ใน 10 ของโลก ทั้งยังเป็นเจ้าของกองทุนเพื่อความมั่งคั่งที่มีเงินทุนในมือกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์ จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ให้กับดูไบ
ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐสองรัฐมีหลายสิ่งหลายอย่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง หากดูไบล้มละลาย อาบูดาบีเองย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบไปได้
ที่น่าสนใจ คือ บทเรียนของดูไบ เวิลด์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่กลับเป็นภาพสะท้อนบทเรียนของชาติอาหรับ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับ 6 ชาติที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นต่อกันอย่างมาก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ คูเวต และโอมาน ซึ่งรวมกลุ่มกันในชื่อกลุ่มความร่วมมือประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย (GCC)
วิกฤตปัญหาทางการเงินเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่ม GCC มาระยะหนึ่ง เว็บไซต์อาหรับ นิวส์ เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า เชื่อกันว่าอาบูดาบีเคยอนุมัติเงินกู้เพิ่มเติมให้แก่ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2541 เพื่อช่วยให้ประเทศนี้รอดพ้นจากวิกฤตสภาพคล่อง และเมื่อ ปีที่แล้วในช่วงที่ธนาคารกลัฟ อินเตอร์เนชั่นแนล แบงก์ ซึ่งถือหุ้นร่วมโดย 6 ชาติสมาชิก กลุ่มจีซีซีมีปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงผูกพันกับหนี้มีปัญหาจำนวนหนึ่ง ก็มีรายงานว่า รัฐบาลซาอุฯได้เข้าซื้อหุ้นเกือบทั้งหมดของธนาคารรายนี้ มาถือครองไว้อย่างเงียบ ๆ
อีกกรณีหนึ่ง คือ เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลอาหรับเหล่านี้ได้เข้าแทรกแซงตลาดการเงินหลายครั้ง โดยเฉพาะในกาตาร์และคูเวต ให้รอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก แต่ในบางกรณี อาทิ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของกลุ่มซาอัด กรุ๊ป พบว่ารัฐบาลไม่มีแนวโน้มจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
กระนั้นอาหรับ นิวส์ ยังรายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์รายหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มจีซีซีอาจดำเนินมาตรการเพื่อโอบอุ้มกิจการในกรณีของดูไบ เวิลด์
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่มีรายงานว่า ทั้งอาบูดาบีและประเทศอื่น ๆ แถบอ่าวเปอร์เซียต่างหาทางที่จะจำกัดผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ และได้แต่คาดหวังว่านักลงทุนจะไม่เข้าใจสับสนระหว่างปัญหาของดูไบและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มจีซีซี ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งกว่า จนกว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะหาทางแก้ไขวิกฤต ดูไบ เวิลด์ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
อีกพัฒนาการหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ ปฏิกิริยาของตลาดการเงินโลก ที่ตอบสนองแบบทันทีทันใด ต่อข่าววิกฤตดูไบ เวิลด์ และความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นตามมา
ทิเซียนา โบนาพาเช่ หัวหน้าหน่วยงานวิเคราะห์และนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายและการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตดูไบว่า ณ ขณะนี้คิดว่าเป็นปัญหาเล็กและสามารถควบคุมได้
"แต่ปัญหาดูไบทำให้เราตระหนักว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบางอยู่ และเป็นบทเรียนแก่ประเทศที่เร่งขยายเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างหนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะต้องชดใช้หนี้ดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ" โบนาพาเช่กล่าว
สอดคล้องกับรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีที่ว่า ปัญหาหนี้ในลักษณะที่ดูไบ กำลังเผชิญอยู่นั้น เป็นภัยคุกคามใหม่ต่อฐานะการเงินของประเทศร่ำรวยที่มีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย เพื่อนำพาเศรษฐกิจของประเทศ ให้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เอเอฟพีได้อ้างคำเตือนขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่ว่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชั้นนำ 30 ชาติของโลกจะเผชิญปัญหาหนี่พุ่งขึ้นเกิน 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายในปี 2553 มากเกือบเป็น 2 เท่าของเมื่อ 20 ปีก่อน
ในจำนวนนั้นหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นคาดว่าจะพุ่งขึ้นถึงระดับ 200% ต่อจีดีพีในปีหน้า ขณะที่ตัวเลขประมาณการหนี้สาธารณะของอิตาลีและกรีซอาจพอกพูนขึ้นเป็น 127% และ 118% ตามลำดับ
ไม่เพียงแค่นี้ ปฏิกิริยาในตลาดพันธบัตรรัฐบาลซึ่งพบว่าต้นทุนในการประกันการผิดนัดชำระหนี้ของหลายประเทศได้พุ่งทะยานขึ้นอย่างผิดตา ในจำนวนนั้นรวมถึงฮังการี ตุรกี บัลแกเรีย บราซิล เม็กซิโก และรัสเซีย อันเป็นผลมาจากกระแสวิตกกังวลว่า ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ได้ตามกำหนด แม้ว่าเศรษฐกิจในขณะนี้จะฟื้นตัวแล้วก็ตาม
No comments:
Post a Comment
ได้ข้อมูลแล้ว ก็ช่วยกันคอมเม้นด้วยนะค่ะ